ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

ตัวอักษรเขมรแบบ "หลังพระนคร" อักษรที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกภาคอีสานตอนใต้ของไทย

ในวงวิชาการ เราแบ่งตัวอักษรและภาษาเขมร ออกเป็น ๓ สมัยใหญ่ๆ
         ๑) สมัยก่อนพระนคร นับตั้งแต่เริ่มมีอักษรใช้ ซึ่งก็เป็นอักษรแบบที่เราเรียกกันว่า "แบบราชวงศ์ปัลลวะ" หรืออินเดียใต้ มาจนถึงสมัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐-๑๓๐๐

         ๒) สมัยพระนคร ตัวอักษรและภาษาที่ใช้สมัยนี้ เข้ารูปเข้ารอยแล้ว เรียกว่าภาษาเขมรโบราณและอักษรเขมรโบราณได้อย่างเต็มปากเต็มคำ อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.๑๓๐๐-๑๙๐๐

         ๓) สมัยหลังพระนคร เป็นช่วงหลังจากสมัยพระนครอันรุ่งเรืองผ่านไปแล้ว เขมรมีการย้ายเมืองหลวงไปโน่นไปนี่มาหลายครั้ง มีเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในอาณาจักร แต่ผู้มีศรัทธาก็ยังกลับไปทำบุญที่นครวัดกันอยู่ ซึ่งช่วงนี้นครวัดกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธแล้ว พร้อมกับเขียนจารึกเรื่องราวการทำบุญไว้ตามเสาต่างๆ ช่วงนี้อยู่ในราว พ.ศ.๑๙๐๐-๒๔๐๐

         ในอีสานใต้ เราพบว่ามีการใช้ตัวหนังสือตั้งแต่ยุคแรกๆ คือตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๑๐๐ ใช้บันทึกเรื่องราวลงบนแผ่นศิลาเรื่อยมาจนถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ ๗ ในจารึกประจำอโรคยศาลา ประมาณ พ.ศ.๑๗๕๐ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏตัวอักษรแบบเขมรใช้ในจารึกอีกเลย ซึ่งก็หมายความว่า "จารึกประจำอาโรคยศาลา" เป็นตัวหนังสือแบบสุดท้ายที่ปรากฏในศิลาจารึกที่พบในอีสานใต้

         ถามว่า แล้วคนแถวนั้นยังใช้ภาษาเขมรสื่อสารกันไหม ก็ยังใช้อยู่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แล้วทำไมไม่ปรากฏจารึกตัวอักษรแบบช่วงที่อยู่สมัยหลังพระนครล่ะ ... ก็อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงสมัยนั้น ไม่นิยมสลักเรื่องราวบนแผ่นหินอีกแล้ว ซึ่งก็สัมพันธ์กับการเลิกสร้างปราสาทหิน ส่วนที่ใช้ในการเขียนใบลานก็ยังคงอยู่ และสืบทอดต่อมา

         เมื่อดูลักษณะรูปตัวเขียน และภาษาที่ใช้ในใบลานแล้ว ส่วนใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรและภาษาเขมรที่ใช้ในสมัยหลังพระนครนั่นเอง หมายความว่า ไม่ได้เขียนบนหินแล้ว แต่ยังเขียนบนใบลานสืบทอดต่อกันมาอยู่

         สรุปภาคอีสานใต้ของไทย หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ ๗ ไม่ปรากฏจารึกภาษาเขมรที่เขียนบนหินอีกเลย แม้จะปรากฏชื่อเมืองพิมายพนมรุ้งอยู่ก็ตาม ข้าพเจ้าเลยเสนอว่า เมื่อไม่มีการสร้างปราสาทหิน ความนิยมในการจารึกเรื่องราวบนหินเลยพลอยเสื่อมไปด้วย ฉะนั้นจึงปรากฏร่องรอยการสืบต่อการเขียนอักษรและภาษาเขมรสมัยหลังพระนคร (สมัยเดียวกับอยุธยา) อยู่ในใบลานเท่านั้น

Reference : 
Kang Vol Khatshima. (2563). ตัวอักษรเขมรแบบ "หลังพระนคร" อักษรที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกภาคอีสานตอนใต้ของไทย, แหล่งข้อมูล:https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10158534813203446&id=721983445. ค้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563.